Friday, November 6, 2009

หนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวประชาชนพลเมืองโลก(ตอนที่ 1)



โดยส่วนตัวผมเองไม่ค่อยได้เดินทางไปไหนมาไหนไกลๆ โดยเฉพาะต่างประเทศเพราะไม่ได้เป็นรัฐมนตรี หรือนักธุรกิจ ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวแบบฟลุ๊คๆที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ ไปในฐานะสื่อมวลชน ค่อนข้างสะดวกเพราะบริษัทนำเที่ยวเขาจัดการให้เสร็จสรรพ ทริปนี้ใช้เวลาประมาณ 5 วันดังนั้นใช้แค่หนังสือผ่านแดนหรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Border pass แทนหนังสือเดินทางหรือ passport ก่อนที่จะเข้าเหยียบแผ่นดินมาเลเซียก็ต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองค่อนข่างเข้มงวดที่เดียวเป็นเรื่องปกติเพราะเข้าไปในช่วงสถานการณ์บ้านเราในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังระอุ ก็ต้องมีการตรวจสอบกันละเอียดหน่อย ผ่านขั้นตอนที่น่าอึดอัด (เพราะไม่สันทัดภาษาอังกฤษ) ไปได้ก็ค่อนข้างโล่งใจ มีเวลาว่างก็ชวนไกด์คนไทยคุยฆ่าเวลาระหว่างการเดินทาง ตอนหนึ่งเราได้คุยกันถึงเรื่องหนังสือเดินทาง จึงทำให้ผม
ถึงบางอ้อว่าจริงๆแล้วมันสำคัญมาก ผมถึงได้จั่วหัวว่า "บัตรประจำตัวประชาชนพลเมืองโลก" ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเวลาจะต้องเดินทางไปไหนมาไหน บนโลกใบนี้ ต้องมีเอกสารแสดงตนว่าเป็นใครมาจากไหน เอกสารที่ว่านี้คือหนังสือเดินทางนั่นเอง เหมือนกับบัตรประชาชน เพียงแต่ว่าหนังสือเดินทางหรือ passport เป็นเอกสารสากลที่สามารถใช้แสดงตนได้ทั่วโลก เพราะมีรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของหนังสือเดินทางที่ละเอียดและสามารถตรวจสอบได้จากทุกมุมโลก ดังนั้นจึงเป็นเอกสารสำคัญยิ่ง อย่าให้ตกอยู่ในมือบุคคลอื่นโดยเด็ดขาด ในบ้านเรา สามารถใช้หนังสือเดินทางแสดงตนแทนบัตรประจำตัวประชาชนได้เช่นกัน
เมื่อสำคัญเช่นนี้ทำไมเราไม่คิดทำละ เมื่อคิดได้เช่นนี้กลับถึงบ้านก็รีบหาเอกสารหลักฐานที่จำเป็นพร้อมเงินค่าธรรมเนียมไปดำเนินการจนได้มาเป็นสมบัติส่วนตัวเรียบร้อยแล้วครับ ว่าแต่ว่าหนังสือเดินทางที่มีใช้อยู่เป็นแบบบุคคลธรรมดาเล่มสีน้ำตาล ถ้างั้นแสดงว่าหนังสือเดินทางต้องมีหลายแบบหลายสีหลายระดับ คิดได้อย่างนั้ก็ลองหาข้อมูลดูก็พบว่าหนังสือเดืนทางเล่มเล็กๆที่เห็นกลับมีความเป็นมาและรายละเอียดมากมายทีเดียวเลยต้องนำมามาฝากเพื่อนๆ ใน go with me เผื่อว่าใครยังไม่มีก็จะได้ไปทำบ้างครับ

ความเป็นมาหนังสือเดินทางไทย [passport]
หนังสือเดินทางไทย (Thai passport) เป็นหนังสือเดินทางที่ออกให้เฉพาะประชาชนไทยโดยกองหนังสือเดินทางกระทรวงการต่างประเทศ อาจจะออกในประเทศไทย หรือสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ หรือสถานกงสุลไทยทั้ง 86 แห่งทั่วโลก
ประวัติและวิวัฒนาการของหนังสือเดินทางประเทศไทย เริ่มมีหลักฐานและข้อมูลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เริ่มมีการออกเอกสารที่มีรูปแบบเพื่อใช้ในการเดินทางสำหรับคนไทยโดยออก เป็นหนังสือราชการที่เขียนด้วยลายมือ มีการกำหนดตราประทับคือตราพระคชสีห์น้อย ตราพระราชสีห์น้อย หรือตราสุครีพซึ่งเป็นรูปแบบที่แน่นอนบนเอกสาร มีกำหนดอายุ 1 ปี ในระยะเริ่มแรกเอกสารเดินทางที่ทางราชการออกให้จะใช้ในข้ามเขต เมือง มณฑลภายในประเทศ ซึ่งยังไม่มีเอกสารที่ใช้สำหรับเดินทางไปต่างประเทศ ในเวลาต่อมาซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือเดินทางประเทศไทยที่ ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยทางราชการสยาม (ราชการไทยในปัจจุบัน) ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยการเดินทางออกนอกพระราชอาณาเขต(ประเทศ) โดยกำหนดให้คนสยาม (พลเมืองไทย) ที่จะเดินทางไปเมืองต่างประเทศต้องมีจดหมายหรือหนังสือเดินทางสำหรับตัวทุก คนจากเจ้าเมือง หลังจากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนให้ใช้หนังสือเดินทางไปต่างประเทศในลักษณะ เป็นหนังสือเดินทางที่พิมพ์ด้วยภาษาฝรั่งเศส 2 หน้า โดยหน้าแรกเป็นหนังสือราชการที่มีข้อความ ขออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ แก่ผู้ถือหนังสือเดินทาง ส่วนหน้าสองแสดงรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถือหนังสือเดินทาง ซึ่งประกอบด้วยรูปถ่าย อายุ ความสูง สีผม ตา ใบหน้า ตำหนิ และลายมือชื่อผู้ถือหนังสือเดินทาง และมีอายุการใช้งาน 1 ปี ในสมัยนั้นหนังสือเดินทางเรียกกันว่าเอกสารเดินทางประเภทตราเดินทาง เพื่อใช้เป็นหนังสือแสดงตัวสำหรับเดินทางไปในหัวเมือง
ตามคำร้องขอของสถานทูตหรือสถานกงสุลต่างประเทศในไทย หรือเป็นการออกให้แก่คนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยมีการสลักท้องตราประทานหรือตราเดินทางลงในเอกสารเดินทาง ผู้มีอำนาจในการออกหนังสืออาจจะเป็นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหลายระดับ ผู้ว่าราชการเมือง กรมการจังหวัด กระทรวงมหาดไทย หรือแม้แต่กำนัน ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดแน่นอน แต่ต้องได้รับคำสั่งจากเจ้าเมืองก่อน แต่ในสมัยนั้นชาวเมืองยังไม่ได้เห็นความสำคัญกับหนังสือเดินทางมากนัก เพราะยังไม่มีการตรวจลงตรา (visa) หรือละเลยที่จะตรวจลงตราทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาหนังสือเดินทางจึงเริ่มมีการพัฒนา โดยเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้นตามลำดับ ดังนี้
พ.ศ. 2460 รัฐบาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้มีการออก "ประกาศว่าด้วยผู้เดินทางไปนอกพระราชอาณาเขตร์ให้มีหนังสือเดินทาง" เมื่อวันที่ 17 กันยายน เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์อย่างเป็นทางการสำหรับผู้เดินทางออกนอกประเทศเพื่อลด ปัญหาผู้เดินทางมักจะไม่มีหนังสือเดินทาง หรือตราเดินทาง (visa) ทำให้ถูกกักกันไม่ให้เข้าประเทศ ถูกจับกุมกักขังหรือถูกส่งกลับประเทศอันเนื่องมาจากในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลในประเทศต่างๆ เริ่มมีการตรวจตราหนังสือเดินทางของคนต่างชาติอย่างเข้มงวด โดยมีการลงในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 23 กันยายน
พ.ศ. 2463 ได้มีการเรียกร้องให้ใช้รูปแบบหนังสือเดินทางให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นผลพวงจากการประชุมขององค์การสันนิบาตชาติเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส รัฐบาลไทยในสมัยนั้นได้เข้าร่วมประชุมและลงนามรับรองข้อมติของที่ประชุมดังกล่าว
พ.ศ. 2470 รัฐบาลไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับแรกของไทยในวันที่ 1 กรกฎาคม อันเนื่องมาจากข้อตกลงในมติในที่ประชุมขององค์การสันนิบาติชาติเกี่ยวกับ หนังสือเดินทางในปีพ.ศ. 2463 ทำให้เริ่มมีการปรับปรุงรูปแบบของหนังสือเดินทางใหม่ให้เป็นรูปเล่ม
พ.ศ. 2482 มีการผลิตหนังสือเดินทางเป็นรูปเล่มปกแข็งมีขนาดใหญ่กว่าที่ใช้อยู่ใน ปัจจุบัน ภายในเล่มข้อมูลใช้ภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศสควบคู่กัน มีการติดรูปถ่ายผู้ถือหนังสือเดินทางพร้อมลายมือชื่อ หนังสือเดินทางมีจำหนวน 32 หน้าโดยในสมัยนั้นมีแผนกหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบดูแล แต่ไม่สามารถออกหนังสือเดินทางหรือต่ออายุนอกพระราชอาณาเขตสยาม (ประเทศไทยในปัจจุบัน) ได้ หนังสือเดินทางมีอายุเพียง 2 ปี แม้กระนั้นเมื่อหมดอายุสามารถต่ออายุได้ 1-2 ปีแต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 4 ปี โดยหนังสือเดินทางใช้ได้เฉพาะการเดินทางไปยังประเทศที่ระบุไว้ในหนังสือเดิน ทางเท่านั้นแต่สามารถสลักเพิ่มเติมได้ในภายหลัง ค่าธรรมเนียมฉบับละ 12 บาทสำหรับออกเล่มใหม่ ส่วนการต่ออายุปีละ 6 บาท หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยงแปลงเล็กน้อยในส่วนของสี ตราครุฑบนปกนอก และลักษณะการจัดวางข้อมูลภายใน
พ.ศ. 2520 มีการเปลี่ยนแปลงรายการข้อมูลผู้ถือหนังสือเดินทางจากที่เคยใช้ภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส เปลี่ยนมาเป็นข้อมูลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
พ.ศ. 2536 มีการพัฒนาในการพิมพ์รูปผู้ถือหนังสือเดินทางลงในหนังสือเดินทางด้วยระบบ ดิจิตอลแทนการติดรูปลงในหนังสือเดินทางโดยใช้ระบบ Digital Passport System (DPS) ทำให้อ่านได้ด้วยเครื่องอ่านหนังสือเดินทาง (Machine Readable Passport)
พ.ศ. 2538 เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จึงมีการเปลี่ยนแปลงหนังสือเดินทางให้ข้อมูลอยู่ในหน้าเดียว
พ.ศ. 2543 ระบบการทำหนังสือเดินทางเริ่มเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยเพื่อเรียกใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎรผ่านทางคอมพิวเตอร์ทำให้ผู้ขอหนังสือเดินทางใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนยื่น ขอหนังสือเดินทาง นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาระบบการผลิตหนังสือเดินทางโดยนำเทคโนโลยีการถ่ายรูป การบันทึกข้อมูล และการพิมพ์ข้อมูลลงในเล่มโดยตรง ทั้งสองระบบนี้สามารถช่วยย่นเวลาการผลิตหนังสือเดินทางได้เป็นอย่างมากทำให้ สามารถผลิตหนังสือเดินทางได้ภายในเวลา 3 วันทำการ
พ.ศ. 2545 มีการปรับปรุงรูปแบบและเล่มหนังสือเดินทางให้ได้มาตรฐานมากขึ้นโดยใช้ เทคโนโลยีขั้นสูงแบบเดียวกับการพิมพ์ธนบัตร ทำให้มีคุณลักษณะป้องกันการปลอมแปลงที่เพิ่มขึ้น คุณลักษณะนี้อาจจะไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการตรวจสอบ และคุณลักษณะบางอย่างที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าก็มีการแฝงไว้อย่างแนบ เนียน นอกจากนี้ในขั้นตอนการผลิตเล่มหนังสือเดินทางจะผลิตขึ้นด้วยกรรมวิธีและสาร เคมีที่ไม่สามารถหาได้ทั่วไป ทำให้ยากต่อการปลอมแปลง และมีความปลอดภัยสูง
พ.ศ. 2548 เริ่มมีการนำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการบันทึกข้อมูลทางชีวภาพของผู้ถือหนังสือเดินทาง มีการฝังไมโครชิปที่เป็นมาตรฐานขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) มีการเพิ่มจำนวนหน้าเป็น 50 หน้า
ตอนหน้าจะมาเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับชนิดรูปแบบของหนังสือเดินทาง รวมทั้งขั้นตอนวิธีการทำและเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับหนังสือเดินทางด้วยครับโปรดติดตามตอนต่อไป

1 comment:

  1. หนังสือเดินทางมีไว้ก็สะดวกเวลาเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่ค่าธรรมเนียมแพงไปนิดหากลดลงมาเหลือ 500 บาท/ปีก็ดี

    ReplyDelete

จองที่พักทั่วไทย

Search Hotels in Thailand
Destination:
Check in:
Check out: