Friday, November 6, 2009
หนังสือเดินทาง บัตรประจำตัวประชาชนพลเมืองโลก(ตอนที่ 2)
หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-พาสปอร์ต (e-passport) หรืออาจะเรียกว่าหนังสือเดินทางที่บันทึกข้อมูลทางชีวภาพ (biometric passport) เป็นหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่ที่มีคุณลักษณะเฉพาะทางเทคนิคโดยปฏิบัติตามข้อกำหนดขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
ทางกองหนังสือเดินทางเริ่มให้บริการได้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 แต่เปิดให้บริการเฉพาะผู้ทำหนังสือเดินทางประเภททูตและราชการเท่านั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2548 เปิดให้บริการสำปรับประชาชนทั่วไปเพียงวันละ 100 เล่มเฉพาะที่กรมกงสุล และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2548
เปิดให้บริการหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่นี้เต็มรูปแบบทุกแห่งและทุกประเภท หนังสือเดินทางในปัจจุบันหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่นี้มีการใช้อย่างกว้างขวางในหลายประเทศ เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอื่น ๆ
ความแตกต่างระหว่างหนังสือเดินทางรุ่นเดิมและหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่นี้มี 2 ส่วนหลัก ๆ คือ
1. มีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ (biometric data) ได้แก่ลายพิมพ์นิ้วมือทั้งสองข้าง (ทั่วไปจะเป็นนิ้วชี้ข้างซ้ายและขวา) โครงสร้างใบหน้าลงไว้ในไมโครชิพแบบ RFID ที่ฝังอยู่ในหนังสือเดินทาง
2. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถอ่านข้อมูลที่มีการบันทึกข้อมูลทาง ชีวภาพของผู้ถือหนังสือเดินทางได้ด้วยเครื่องอ่าน(Machine Readable Passport) โดยมีการตรวจพิสูจน์โดยอัตโนมัติในการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างหนังสือเดิน ทางกับผู้ถือหนังสือเดินทาง
นอกจากนี้ยังมีข้อแตกต่างอื่นๆ คือ
1. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จะไม่สามารถต่ออายุได้เหมือนหนังสือเดินทางรุ่นเดิมโดยจะเป็นการออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่แทนเล่มเดิม
2. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์จะไม่อนุญาตให้ลงบันทึกแก้ไขเพิ่มเติมหรือ เปลี่ยนแปลงข้อความใด ๆ เช่นการขอเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล ของผู้ถือหนังสือเดินทางลงในเล่มหนังสือเดินทาง เพื่อป้องกันข้อมูลขัดแย้งกันระหว่างข้อมูลในหนังสือเดินทางกับข้อมูลที่ บันทึกไว้แล้วในไมโครชิพซึ่งอาจะทำให้หนังสือเดินทางขาดความน่าเชื่อถือ
3. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทจะมีให้เลือกเพียงแบบเดียวคือแบบ จำนวน 50 หน้าโดยไม่สามารถเพิ่มเติมหน้าได้ ต่างจากแบบเดิมที่มี 32 หน้าและสามารถเพิ่มหน้าได้ตอนหลัง
ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์
กองหนังสือเดินทางกล่าวไว้ว่าหนังสือเดินทางรูปแบบใหม่นี้มีประโยชน์มาก ขึ้นในหลายด้านเช่นด้านของการป้องกันการปลอมแปลง เนื่องจากต้องปลอมแปลง ข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลทางชีวภาพของผู้ถือหนังสือเดินทางให้ตรงกันสองอย่างซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก ทำให้สามารถสกัดกั้นขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ และปัญหาการลักลอบเข้าเมือง อีกทั้งยังทำให้เวลาในการตรวจสอบข้อมูล ผู้ถือหนังสือเดินทางรวดเร็วและแม่น ยำมากยิ่งขึ้น สุดท้ายยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยทำให้หนังสือเดินทางประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น
ชนิดของหนังสือเดินทางประเทศไทยในปัจจุบันมี 4 ประเภทคือ
หนังสือเดินทางธรรมดา(ปกสีแดงเลือดหมู) ออกให้สำหรับประชาชนทั่วไป หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี
หนังสือเดินทางราชการ(ปกสีน้ำเงินเข้ม) หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี ผู้ถือต้องใช้ในราชการเท่านั้น
ไม่สามารถนำไปใช้ในการเดินทางส่วนตัว โดยมีข้อกำหนดออกเฉพาะข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่จัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ และบุคคลอื่นใดที่เดินทางเพื่อทำประโยชน์แก่ทางราชการตามที่กระทรวงการต่างประเทศอนุมัติ
หนังสือเดินทางทูต (ปกสีแดงสด) ประเภทนี้จะมีอายุไม่เกิน 5 ปี ไม่สามารถต่ออายุเพิ่มได้ มีข้อกำหนดออกให้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้
1. พระบรมวงศ์และพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. พระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและคู่สมรส
3. พระราชวงศ์และบุคคลสำคัญที่ราชเลขาธิการขอไปเป็นกรณีพิเศษ
4. ประธานองคมนตรี และองคมนตรี
5. นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
6. ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา
7. ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์
8. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
9. อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีกระทวงการต่างประเทศ
10. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ
11. ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ
12. ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ณ ส่วนราชการในต่างประเทศ คู่สมรส และบุตรในประเทศที่ประจำอยู่หรือทำการศึกษาอยู่ในประเทศอื่น แต่บุตรจะต้องอายุไม่เกิน 25 ปี
13. คู่สมรสที่ร่วมเดินทางไปกับบุคคลดังกล่าวในข้อ 2-8
14. บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ หรือภายใต้สถานการณ์พิเศษที่มีความจำเป็น หรือเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทย
หนังสือเดินทางชั่วคราว (หน้าปกสีเขียว)
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 ประเภทพิเศษ คือ
หนังสือเดินทางพระ ออกให้สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศตามนัยระเบียบมหาเถรสมาคม
หนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ ออกให้ชาวมุสลิมที่เพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ หนังสือเดินทางประเภทนี้จะมีอายุ 2 ปีเท่านั้น
รูปแบบลักษณะหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางประเทศไทยสำหรับประชาชนทั่วไปรุ่นปัจจุบันจะมีสีแดงเลือดหมูโดยมีตราครุฑอยู่ ตรงกลางที่ปกด้านหน้า และคำว่า "หนังสือเดินทาง ประเทศไทย" (อยู่ต่างบรรทัดกัน) อยู่ด้านบนสุด ส่วนคำว่า "THAILAND PASSPORT" (อยู่ต่างบรรทัดกัน) อยู่ใต้ตราครุฑ ด้านล่างสุดจะเป็นสัญลักษณ์ของหนังสือเดินทางที่มีข้อมูลทางชีวภาพ (biometric passport) อักษรและสัญลักษณ์ที่หน้าปกเป็นสีทอง ขนาดกว้าง 8.5 เซนติเมตร ยาว 12.5 เซนติเมตรมีจำนวนหน้าทั้งหมด 50 หน้าภายในหนังสือเดินทางประกอบด้วยรายการข้อมูลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ข้อมูลจำเพาะผู้ถือหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางประเทศไทยจะมีข้อมูล 2 ภาษา เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษดังต่อไปนี้
* รหัส (Type) 'P' อักษรย่อสำหรับคำว่า "Passport"
* ประเทศ (Country code) "THA" สำหรับประเทศไทย
* หนังสือเดินทางเลขที่ (Passport No.) มีรูปแบบเป็น A123456 (ตัวอักษรหนึ่งตัวตามด้วยตัวเลขหกหลัก)
* นามสกุล (Surname) เป็นภาษาอังกฤษ
* คำนำหน้าชื่อ ชื่อ (Title Name) เป็นภาษาอังกฤษ
* ชื่อภาษาไทย (Name in Thai) ประกอบด้วยคำนำหน้า ชื่อ และนามสกุลเป็นภาษาไทย
* สัญชาติ (Nationality) "THAI" สำหรับประชาชนไทย
* วันเกิด (Date of birth) ในรูปแบบ DD-MMM-YYYY (วัน เดือน ปีค.ศ.) เช่น 20 NOV 2006
* เลขประจำตัวประชาชน (Personal No.)
* เพศ (Sex) "M" สำหรับบุรุษ หรือ "F" สำหรับสตรี
* ส่วนสูง (Height) หน่วยเป็นเมตร
* สถานที่เกิด (Place of birth) โดยทั่วไปจะเป็นจังหวัดที่เกิด
* วันที่ออก (Date of issue) ในรูปแบบเดียวกับวันเกิด
* วันที่หมดอายุ (Date of expiry) ในรูปแบบเดียวกับวันเกิด โดยจะหมดอายุในอีก 5 ปีให้หลัง
* ออกให้โดย (Authority) โดยทั่วไปจะเป็น "MINISTRY OF FOREIGN AFFAIR"
* ลายมือชื่อผู้ถือหนังสือเดินทาง (Signature of bearer)
หมายเหตุหนังสือเดินทาง
หนังสือเดินทางส่วนใหญ่จะมีหมายเหตุจากประเทศที่เป็นผู้ออกหนังสือเดิน ทางให้โดยเป็นการชี้แจงว่าผู้มือหนังสือเดินทางเป็นพลเมืองของประเทศนั้นและ ขอความกรุณาให้พลเมืองของประเทศตนสามารถผ่านเข้าไปในประเทศได้และได้รับการ ปฏิบัติต่อผู้ถือหนังสือเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของนานาชาติ หมายเหตุสำหรับหนังสือเดินทางประเทศไทยมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด โดยมีข้อความว่า
"The Minister of Foreign Affairs of Thailand hereby requests all whom it may concern to permit the citizen/national of the Kingdom of Thailand named herein to pass freely without delay or hindrance and to give all lawful aid and protection.
This passport is valid for all countries and area."
หมายความว่า
"กระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศไทยจักร้องขอ ณ โอกาสนี้ยังผู้เกี่ยวข้อง ได้ยินยอมให้ประชาชน/ราษฎรแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ปรากฏนาม ณ ที่นี้ ได้ผ่านไปโดยเสรี มิให้ล่าช้าฤๅกีดกั้น ทั้งโปรดอนุเคราะห์และปกป้องโดยนิติธรรมหนังสือเดินทางนี้มีผลแก่ทุกประเทศแลดินแดน"
ค่าธรรมเนียม
หนังสือเดินทางธรรมดา หนังสือเดินทางพระ หนังสือเดินทางราชการ เก็บค่าธรรมเนียมฉบับละ 1,000 บาท ส่วนหนังสือเดินทางเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ เก็บค่าธรรมเนียมฉบับละ 400 บาท
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
เพิ่งรู้ว่าหนังสือเดินทางมีหลายแบบ ถึงว่าทักษิณถึงต่อสู้เพื่อเล่มแดงเพราะมีสิทธิพิเศษอย่างนี้นี่เอง
ReplyDelete